FIS Poll ครั้งที่ 6 : พฤติกรรมและความต้องการรถโดยสาธารณะของคนภูเก็ต
FIS Poll
สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “พฤติกรรมและความต้องการรถโดยสาธารณะของคนภูเก็ต”
จากประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในชีวิตประจำวัน FIS Poll โดยฝ่ายงานวิจัยคณะวิเทศศึกษา ม.อ.ภูเก็ต ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนภูเก็ต เรื่อง “พฤติกรรมและความต้องการรถโดยสารธารณะของคนภูเก็ต” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 532 คน
พบว่า ประชาชนภูเก็ตร้อยละ 33.6 มีโอกาสใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประเภทรถโดยสารประจำทางท้องถิ่น (รถโพถ้องในเมืองภูเก็ต) รองลงมาร้อยละ 16.0 ระบุว่าใช้บริการรถโดยสารประจำทางท้องถิ่น (รถโพถ้องระหว่างตำบล เช่น ตลาดสด-ราไวย์) ร้อยละ 12.4 ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (แอร์พอร์ตบัส) ร้อยละ 8.1 ใช้บริการ Grab/Uber ร้อยละ 7.9 ใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 7.0 ไม่เคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเลย ร้อยละ 4.3 ใช้บริการแท็กซี่ ร้อยละ 4.1 ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ร้อยละ 3.8 ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (ภูเก็ตสมาร์ทบัส) และร้อยละ 2.8 ใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะของประชาชนภูเก็ตส่วนใหญ่ร้อยละ 39.1 คือเดินทางไปทำธุระส่วนตัว (เช่น สนามบิน สถานที่ราชการ) รองลงมาร้อยละ 28.2 เดินทางไปเรียนหนังสือ ร้อยละ 17.3 ใช้บริการเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัด และร้อยละ 15.4 เดินทางไปทำงาน
ส่วนความถี่ในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ปรากฏว่าร้อยละ 56.8 น้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ รองลงมาร้อยละ 21.1 ใช้บริการสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง นอกจากนี้ พบความต้องการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันของประชาชนภูเก็ตในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ความสะดวกในการเข้าถึงและเรียกใช้บริการอยู่ในระดับมากที่สุด มีจุดที่สามารถเรียกรถได้สะดวกอยู่ในระดับมากที่สุด
ประเด็นสุดท้าย คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นเกี่ยวกับการบริการรถโดยสารสาธารณะประจำทาง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 81.2 ควรมีการเพิ่มทางเลือกระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลายขึ้น (เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟรางเบา) รองลงมาร้อยละ 75.6 มองว่าควรมีการเพิ่มเส้นทางการให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ครอบคลุมทุกเส้นทางในจังหวัด ร้อยละ 70.7 เห็นว่าควรปรับรูปแบบการบริการรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น