รายงานผลการสัมมนาวิชาการ

Back to Blog

รายงานผลการสัมมนาวิชาการ

รายงานผลการสัมมนาวิชาการ เรื่อง ‘Rights and Equality of Dis/abled People in Thailand’ ในโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศของคณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

          ในวันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตได้ร่วมกับสี่หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ Minority Rights Group International ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน, Accessibility Is Freedom ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมสิทธิคนพิการ, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, และ สมาคมคนพิการภาคใต้ เพื่อจัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ สิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการในประเทศไทย (Rights and Equality of Dis/abled People in Thailand) โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสิทธิและความเท่าเทียมของผู้พิการ รวมถึงกลุ่มคนชายขอบและชนกลุ่มน้อย

 

          งานสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิคนพิการและสิทธิมนุษยชนมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการคนสำคัญของไทย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Accessibility Is Freedom คุณสือนะ ดีสะเอะ อุปนายกสมาคมคนพิการภาคใต้ อาจารย์ฟารีดา ปันจอร์จากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคุณลอเรน เอเวรี่ จาก Minority Rights Group International, London โดยมี ดร. ณัฐพร สิทธิแพทย์จากคณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

          งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโปสเตอร์และคลิปวิดิโอของงานสัมมนาทั้งก่อนและหลังการจัดงานถึง 5,400 ครั้ง ในขณะที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนาผ่านโปรแกรมซูมจำนวน 50 คน ร่วมกับยอดรับชมผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค 600 ครั้ง โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการดำเนินรายการ ควบคู่ไปกับการแปลภาษามือให้แก่ผู้พิการทางการได้ยินภายใต้ความร่วมมือจากทีมนักแปลจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

           สำหรับเนื้อหาของการสัมมนานั้น วิทยากรและผู้เข้าร่วมได้อภิปรายถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้พิการในสามพื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศสหราชอาณาจักร โดยได้สรุปผลการอภิปรายว่า สิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมตระหนักว่า ความพิการเป็นส่วนหนึ่งตามเงื่อนไขทางธรรมชาติของมนุษย์ และดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องถูกพิจารณาว่า เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ซึ่งโดยอาศัยแนวคิดดังกล่าว ผู้จัดงานและวิทยากรจึงเลือกใช้คำว่า ‘dis/abled’เพื่อย้ำถึงความไม่จีรังของความพิการตลอดจนท้าทายภาพจำด้านแง่ลบที่สังคมไทยมีต่อผู้พิการ

 

          ในช่วงแรกของการสัมมนา คุณสือนะและอาจารย์ฟารีดาได้ให้ข้อแนะนำและแนวทางการแก้ปัญหาสิทธิคนพิการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสนอว่า ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อการดำรงชีวิตและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มคนพิการ คือ การมีรายได้ต่ำ ขาดการฝึกอาชีพ สิทธิของผู้ถือบัตรคนพิการ ขาดศูนย์ซ่อมอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการในพื้นที่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรง นอกจากนี้ วิทยากรทั้งคู่ยังเสนอว่า กลุ่มคนพิการที่เป็นผู้หญิง และกลุ่มชาติพันธ์ควรเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพราะมักถูกละเลยจากรัฐบาล ทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมัสยิคและโรงเรียนอิสลามที่ยังขาดแคลนในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา หรือการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาทางศาสนาและการมีส่วนร่วมในพิธีการทางศาสนาของคนพิการที่เป็นมุสลิม นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาการละเมิดทางเพศในคนพิการเพศหญิงในชุมชนซึ่งมักถูกปกปิดเอาไว้ จนส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ถูกบันทึก ตรวจสอบและแก้ไข

          ในช่วงที่สองของการสัมมนา คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ได้อธิบายถึงการเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนของคนพิการในกรุงเทพมหานคร โดยใช้รูปภาพแสดงให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นถึงอุปสรรคที่คนพิการต้องพบเจอในการเดินทางแต่ละวัน และเสนอว่า ประเทศไทยควรพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรอบรับการใช้บริการของประชาชนทุกคน

 

           ส่วนช่วงที่สามซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาสิทธิคนพิการในประเทศสหราชอาณาจักรนั้น คุณลอเรน เอเวรี่ได้เสนอว่า แม้การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในสหราชอาณาจักรจะก้าวหน้าค่อนข้างมาก แต่สิทธิของผู้พิการก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามจากแนวนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล จนนำไปสู่ปัญหาการบริการทางสังคมและสุขภาพในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลของการขาดการสนุบสนุนจากภาครัฐดังกล่าวยังทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในกลุ่มชาติพันธ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยและคนพิการขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถิติแล้ว จะพบว่า จำนวนมากของผู้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีค.ศ. 2020 นั้นเป็นผู้พิการและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มเชื้อชาติผิวสีและเอเชีย อย่างไรก็ตาม วิทยากรก็ได้ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรนั้น มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนพิการในสังคม อาทิเช่น ความสำเร็จของการรณรงค์ให้กลุ่มคนพิการได้สิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนประชาชนปกติ กระนั้น เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถบรรลุถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ ความร่วมแรงร่วมใจของสังคมที่เพิ่มขึ้นก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

 

           เนื่องจากความสำเร็จของงานสัมมนาครั้งนี้ คณะวิเทศศึกษาจึงได้ร่วมมือกับ Accessibility Is Freedom และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ วางแผนจัดชุดการเสวนาในปีการศึกษาถัดไปเพื่อส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของคนพิการ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังได้ร่วมมือกับ Minority Rights Group International และสมาคมคนพิการภาคใต้ เพื่อวางแผนจัดโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้พิการและชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ของประเทศไทย อาทิเช่น การส่งเสริมให้มีการเปิดรับกลุ่มคนชายขอบสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ หรือการส่งเสริมให้มีศูนย์ซ่อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในพื้นที่

 

ขอบพระคุณวิทยากรและล่ามภาษามือทุกท่านที่ทำให้งานสัมมนาสำเร็จไปได้ด้วยดี และขอขอบพระคุณผู้สนใจทุกท่านที่ได้เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

โปรดอ่านรายงานผลการสัมมนาวิชาการ ฉบับภาษาอังกฤษในเว็บไซด์ของ Minority Rights Group Internationalได้ที่: https://minorityrights.org/2021/06/08/thailand-webinar/

Share this post

Back to Blog